Bob Dylan กับอัลบั้มที่เปลี่ยนมาใช้กีตาร์ไฟฟ้า และนำพาวัฒนธรรมทั้งหมดไปกับเขา
14
“I need a dump truck, mama, to unload my head.” Bob Dylan ร้องโอดครวญในเพลงกลางอัลบั้มขึ้นหิ้งจากปี 1965 ของเขา ในขณะนั้น Bob คือกวีรุ่นหนุ่มที่ได้รับการยกย่องอย่างไม่เป็นทางการ และยังเป็นเสียงเย้ยหยันสังคมของวัฒนธรรมต่อต้านที่กำลังปะทุ ซึ่งในเวลานั้นเอง เขาก็มีหลายสิ่งอยู่ในหัว เมื่อเขากลับมาจากทัวร์คอนเสิร์ตในอังกฤษที่จัดขึ้นติดต่อกันหลายวันในเดือนพฤษภาคมปี 1965 เขาจึงรู้สึกเหนื่อยล้า ยิ่งเมื่อเขาปล่อยงานออกมาถึง 5 อัลบั้มในระยะเวลาเพียงแค่ 3 ปี นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเขากำลังหมดมุขที่จะเล่าเรื่อง หรือไม่แน่ว่ามันอาจเป็นแรงขับให้เขาต้องพูดอะไรบางอย่างออกมา
“มันคือการเปลี่ยนแปลง…ไปสู่การเป็นร็อคสตาร์ และนี่เป็นช่วงเวลาที่คุณทำอะไรที่ต่างออกไปจากเดิมเล็กน้อยและกวนประสาทคนอื่น”
ใน 9 เพลงนี้ Bob สิ้นหวังกับแทบทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความโหดร้ายของโลกใบนี้ใน “Just Like Tom Thumb’s Blues” ความฉาบฉวยของสังคมชั้นสูงใน “Ballad of a Thin Man” หรือขวากหนามและความยุ่งเหยิงในหัวใจใน “It Takes a Lot to Laugh, It Takes a Train to Cry” จนเมื่อสงครามถูกยกระดับความรุนแรง ประเทศก็ยิ่งหนักอึ้งตามไปด้วย และ Bob เองก็ต้องต่อสู้กับสถานะใหม่ของเขา สิ่งเหล่านี้คือภาพของจิตใจอันร้อนรุ่มที่แสดงออกมาผ่านบทเพลงในรูปของละครชีวิต อัลบั้มนี้เป็นสิ่งที่ผู้ฟังพอจะยึดเหนี่ยวได้ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน รวมทั้งภาษาและสไตล์ของเพลงร็อคที่เปลี่ยนไปเพราะอัลบั้ม Highway 61 Revisited ด้วยเช่นกัน