คอนเซปต์อัลบั้มหัวขบถที่ลบล้างค่านิยมสองขั้วและขยายขอบเขตร็อคกระแสหลักให้กว้างกว่าเคย
24
ถึงแม้ว่าคอนเซปต์เอเลียนร็อคสตาร์ที่ไม่สนค่านิยมใดๆ ในอัลบั้มชุดที่ 5 ของ David Bowie จะเป็นการปฏิวัติวงการครั้งใหญ่ แต่การโค่นล้มความธรรมดาที่แท้จริงกลับอยู่ที่ตัวดนตรี อัลบั้มนี้มีทั้งเพลงที่ร้ายกาจแต่ก็มีเสน่ห์ (“Moonage Daydream” และ “Suffragette City”) ดูเป็นการแสดงแต่ก็ส่วนตัวสุดๆ (“Five Years”) มีความเป็นพังก์ต้นตำรับ (“Hang On to Yourself”) และเป็นคาบาเรต์ที่ผู้ชมแสนเย่อหยิ่งจะไม่ยอมลดตัวลงมาดู (“Rock ’n’ Roll Suicide”) David พูดถึงตัวเองในมุมมองบุคคลที่สาม ซึ่งจองหองเกินเหตุจนแฟนๆ ลงมือฆ่าเขา (“Ziggy Stardust”) ทั้งยังหลอกตัวเองว่าร็อคแอนด์โรลสามารถกอบกู้โลกได้ แต่ก็กล้าหาญพอที่จะยอมตายเพื่อพยายามทำมันให้สำเร็จ (“Star”) ความเจ้าเล่ห์เพทุบายทำให้ชีวิตเขาพัง แต่มันก็ปลดปล่อยเขาให้เป็นอิสระด้วย
อัลบั้มนี้ช่วยทลายความคิดที่ว่าทุกอย่างมีแค่สองขั้ว ทั้งเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี การแสดงออก และอัตลักษณ์ และมันก็ดึงอิทธิพลจากวัฒนธรรมอันเดอร์กราวด์ต่างๆ มาช่วยระเบิดสไตล์ของร็อคกระแสหลักให้เปิดกว้างหลากหลายยิ่งขึ้น การมองเขาว่าเป็นศิลปินที่ไร้จุดยืนหรือเป็นของปลอมอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะ David ก็เหมือนกับ Andy Warhol ที่ถือว่างานศิลปะของเขาเป็นผลจากการผสมผสานสิ่งที่ตัวเองสนใจเข้าด้วยกัน ซึ่งแม้จะถือว่าสุดโต่งสำหรับสมัยนั้นในทุกๆ ด้าน แต่ Ziggy Stardust ก็ได้กลายเป็นต้นแบบของผลงานที่หยิบเอาสิ่งต่างๆ มาปั่นรวมกันเพื่อสร้างผลงานชิ้นใหม่ ซึ่งก็คืองานเพลงยุคอินเทอร์เน็ตที่เราต่างคุ้นเคยกันดีนั่นเอง
“เพลงนี้คือวิธีที่เขาพูดถึง Jimi Hendrix ครั้งแรกที่เขาไปดูคอนเสิร์ตของ Jimi ที่ลอนดอน มีแต่คนไม่ชอบ Jimi แต่ David เป็นคนเดียวที่ใจกล้าพอที่จะยอมรับว่าไม่ชอบ แล้วเอามาเขียนเป็นเพลงฮิต เขาแน่ไหมล่ะ”