เครื่องพิสูจน์ของการนำเสนอตัวตนทางศิลปะสุดแหวกอย่างเต็มภาคภูมิ
5
ในช่วงเวลา 4 ปีระหว่างการเปิดตัว channel ORANGE อัลบั้มชุดแรกและ blond ผลงานชุดที่ 2 Frank Ocean ได้เปิดเผยชีวิตส่วนตัวบางส่วนโดยโพสต์ลงโซเชียลมีเดียว่าเขากำลังมีความรักกับผู้ชายคนหนึ่ง แต่เขาก็ยังคงทำตัวลึกลับและไม่อ้าแขนรับชื่อเสียงอย่างเต็มที่เหมือนเคย ด้วยการปล่อยทีเซอร์เพลงใหม่ๆ ออกมาเป็นระยะๆ แล้วก็หายไปกับสายลม แต่แน่นอนว่าเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่นั้นคือการลงมือทำงานอย่างหนัก ดังนั้นเมื่อ blond ถูกปล่อยออกมาหนึ่งวันหลังจากงานศิลปะการแสดง (วิชวลอัลบั้ม Endless) เปิดให้สตรีมนาน 24 ชั่วโมง และมาพร้อมกับนิตยสารที่ผลิตในจำนวนจำกัดที่ชื่อ Boys Don't Cry ความเอาแน่เอานอนไม่ได้จึงดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของปริศนาที่ผ่านการไตร่ตรองมาเป็นอย่างดี และเมื่อเรามองย้อนกลับไป การที่เขาตัดสินใจไม่ได้ว่าจะสะกดชื่ออัลบั้มนี้อย่างไรก็อาจเป็นการตั้งใจล้อเล่นเช่นกัน
Endless นำเสนอภาพความงามอันเรียบง่ายขณะที่ Frank ทำงานช่างไม้อยู่ในสตูดิโอ ประกอบด้วยดนตรีฉากหลังแบบนามธรรมและแอมเบียนต์สุดวกวน ซึ่ง blond ก็ได้สานต่อไอเดียเหล่านี้ด้วยรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น โดยใช้แนวทางที่ไม่ซ้ำใครและเน้นความเป็นมินิมอลในการนำเสนอทำนองที่ล่องลอยและเนื้อเพลงที่เป็นการเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ ความมั่นใจของเขาสำคัญต่อการกล้าเสี่ยงเพื่อสร้างโปรเจกต์มัลติมีเดียขนาดใหญ่สำหรับอัลบั้มชุดที่ 2 ขณะเดียวกันมันก็ช่วยเรื่องการเขียนเพลงของเขาด้วย เสียงร้องของเขาฟังดูมั่นใจยิ่งขึ้น (“Solo”) และความตั้งใจที่จะขุดเอาแรงขับพิลึกพิลั่นขึ้นมาก็ดูเด่นชัดขึ้น (“Good Guy”, “Pretty Sweet” และอีกหลายๆ เพลง)
แม้ว่า blond จะบรรจุ 17 แทร็กไว้ในเวลาเพียงหนึ่งชั่วโมง แต่มันก็ได้แผ่กิ่งก้านของไอเดียหลากสีสัน และยังเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฉลียวฉลาดในการนำเสนอตัวตนทางศิลปะสุดแหวกอย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่าผู้ฟังจะตอบรับตัวตนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้น และ Frank ก็สร้างตัวตนขึ้นในฐานะศิลปินแห่งยุคที่เหมาะเจาะลงตัวกับความซับซ้อนและความเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันของยุคทศวรรษ 2010
“ผมบอกเขาเสมอว่าผมชอบอัลบั้ม [Blonde] มากกว่า channel ORANGE และไม่ชอบเอามาเปรียบเทียบกัน แต่ความหลวมของโครงสร้างเพลง คอร์ด และส่วนอื่นๆ ใน Blonde โดนใจผมมากกว่า”